วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เทศกาลงานดอกลำดวนบานสืบสานสี่เผ่าไทย ศรีสะเกษ...


      ด้วยภาระกิจมากมายทั้งงานหลวงงานราษฎร์ทำให้ผมมาอัพบล็อกช้าไปหน่อยต้องขอ อภัยด้วยครับ มาอ่านบล็อกคนอื่นแล้วก็ฝากข่าวไว้ จึงต้องรีบมานำเสนองานเพราะวันพรุ่งนี้งานจะเริ่มแล้วครับ เริ่มแรกก็ขอตัดเอาคำพูดในงานวันแถลงข่าวจัดงานมาให้ชมเลยครับ..
     “ เมื่อวันที่  21  กุมภาพันธ์  2551  เวลา  10.30  น.  ณ  สวนสมเด็จศรีนครินทร์ศรีสะเกษ  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ  จังหวัดศรีสะเกษ  นายเสนีย์   จิตตเกษม  ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ  พร้อมด้วยนายไมตรี  อินทุสุต  รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ  นางกัลยาณี  ธรรมจารีย์   ประธานชมรมการท่องเที่ยวภาค 4   และนางธมลวรรณ    เรืองขจร  ผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เขต  2  จังหวัดอุบลราชธานี  ได้ร่วมแถลงข่าวงานร่มลำดวนร่มธรรมตามรอยพระยุคลบาท เทศกาลงานดอกลำดวนบานสืบสานสี่เผ่าไทย  ประจำปี  2550  โดยมีสื่อมวลชนจังหวัดศรีสะเกษเข้ารับฟังเป็นจำนวนมาก  ซึ่งการจัดงานในปีนี้  จังหวัดศรีสะเกษจัดขึ้นยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา  การจัดแสดงและสาธิตกิจกรรมเศรษฐกิจแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริ  การ สาธิตและจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองสี่เผ่าไทยศรีสะเกษ กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ ในด้านคุณธรรม ศิลปกรรม และวัฒนธรรมพื้นเมือง การจำหน่ายกล้าไม้ลำดวนและพันธุ์ไม้มงคลนานาชนิด การสาธิตและจำหน่ายหัตถกรรมพื้นเมืองศรีสะเกษ  การแถลงข่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ  และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงและสินค้าหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลจังหวัดศรีสะเกษด้วย
     แล้วก็ตามด้วยเรื่องราวสั้นๆของงานในปีที่ผ่านมา โดยทุกปีจะมีการแสดงแสง สี เสียง ศิวะราตรีศรีพฤเทศวร ซึ่งปีนี้ได้งดจัดการแสดงแสงสีเสียงนี้ไป เพื่อแสดงการไว้อาลัยแด่พระพี่นางฯ เพื่อไม่ให้ลืมกันเลยนำภาพเรื่องราวงานแสง สี เสียง ที่เคยจัดแสดงกันมาให้ชมครับ
การแสดงแสง สี เสียง ศิวะราตรีศรีพฤทเธศวร " (ประจำปีพ.ศ.2550 )
(เรื่องราวในการแสดง)...จาก ตำนานในการสร้างเมือง ศรีสะเกษ ที่ได้มีปรากฏอยู่ในจารึกที่บนเขาพระวิหารเกี่ยวกับการสร้างศาสนสถาน ปราสาทสระกำแพงใหญ่ (กัมรเตงชคต ศรีพฤทเธศวร) นั้น ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 แผ่ พระราชอำนาจเข้าไปในอาณาจักรต่าง ๆ อย่างกว้างขวางมีการสร้างปราสาทและเทวาลัยตามความเชื่อของลัทธิเทวราชา เพื่อถวายเป็นทิพย์ วิมานของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์และเพื่อเป็นสุสานของกษัตริย์ขอมยามเสด็จสวรรคต และสำหรับเรื่องย่อของศรีพฤทเธศวรนั้น ศรีสุกรรมากำเสตงงิได้รับพระราชทานเมืองวิเภทะจากพระบาทกมรเตงกันดวนอัญศรี สุริยวรมันเทวะ (พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1) เมื่อปีมหาศักราช 959 หรือ พ.ศ. 1580 พร้อม กับพระราชทานชื่อเมืองให้ใหม่ว่า กุรุเกษตร ซึ่งศรีสุกรรมากำเสตงงิมีมเหสีนามว่า พระนางศรีเทวี และมีบุตรีวัยรุ่นแรกแย้มนามว่า ไตรภัทระ (นางสาวภัทระ)
     ซึ่งเมื่อครองเมืองกุรุเกษตรแล้ว คราวหนึ่งได้ออกตรวจราชการและเที่ยวป่าเดินทางมาถึงเมืองสดุกอำพึล เมืองในอาณาเขตปกครอง ตั้งค่ายพักแรมข้างสระน้ำ จึงได้พบว่าน้ำในสระนั้นเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ช่วยให้ผู้อาบกินมีสุขภาพพลานามัยดี เวลานั้นได้รับข่าวว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ให้ เข้าเฝ้าจึงไปเข้าเฝ้าพร้อมกับนำไตรภัทรบุตรีไปด้วย ก็รู้สึกแปลกพระทัยจึงตรัสสั่งให้สร้างเทวาลัย โดยให้พราหมณ์คณาจารย์ทำพิธีอัญเชิญมหาเทพ (พระศิวะ) มาสถิตย์ ณ ที่นั้น เพื่อให้ชาวเมืองสักการะบูชา บวงสรวงและให้ ไตรภัทระ เป็นพระเทวีศรีกุรุเกษตร เพื่อเป็นพิธีกรรมบวงสรวง ศรีพฤทเธศวร เทวรูปแห่ง กัมรเตงชคต ศรีพฤทเธศวร หรือ ปราสาท สระกำแพงใหญ่ ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ที่วัดสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดรีสะเกษ
    

และทุกปีในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกลำดวนบาน จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมีต้นลำดวนขึ้นอยู่ตามธรรมชาติโดยทั่วไป โดยเฉพาะในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นสวนสมเด็จ ศรีนครินทร์แห่งแรกของประเทศไทย มีต้นลำดวนกว่า 50,000 ต้น ดอกลำดวนจะบานหอมตลบอบอวลไปทั่วทั้งเมือง เปรียบเสมือนเมืองในเทพนิยาย ซึ่งต้นลำดวนเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 3 " 8 เมตร ใบเขียวเข้ม ผิวลำต้นเกลี้ยงไม่มีขน ใบเดี่ยวออกเรียงสลับซ้ายขวา เป็นรูปรีโคนใบและปลายใบแหลมดอกจะเป็นดอกเดี่ยว ออกดอกตรงซอกใบปลายกิ่งห้อยไปด้านหลังใบ กลีบดอกสีเหลืองนวล ส่งกลิ่นหอมยามเย็น ซึ่งดอกลำดวนนอกจากจะเป็นไม้ให้ร่มเงาแล้ว ยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรอีกด้วย โดยสามารถที่จะนำเอาเกสรดอกลำดวนใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต และดอกลำดวนยังเป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุสากล และเป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุแห่งชาติของประเทศไทยอีกด้วย ทั้งนี้เพราะว่าต้นลำดวนเป็นไม้ไม่ทิ้งใบ จึงมีใบเขียวชอุ่มตลอดปีให้ร่มเงาตลอดเวลา ดุจดังผู้สูงอายุที่เป็นที่พึ่งให้ความร่มเย็นแก่ผู้อ่อนวัย อีกประการหนึ่งดอกลำดวนมีกลีบแข็ง กลิ่นหอมและใบไม่ร่วงง่ายเหมือนดอกไม้หอมบางชนิด เหมือนผู้สูงอายุที่คงความดีงามไว้เป็นตัวอย่างและเป็นสิ่งเตือนใจแก่ลูก หลานตลอดไป
   
  
งานแสดงแสงสีเสียงที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ เป็นการแสดงชุดเล็กสั้นๆ
โดยชุดใหญ่จะแสดงที่งานดอกลำดวนบาน ที่สวนสมเด็จฯ
     ดังนั้น จังหวัดศรีสะเกษ จึงได้ร่วมกับมูลนิธิสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน หอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดศรีสะเกษ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดศรีสะเกษ ได้กำหนดจัดงานเทศกาลดอกลำดวนบานสืบสานประเพณีสี่เผ่าไทยศรีสะเกษ ณ บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ซึ่ง นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับดอกไม้ในวรรณคดี ได้รับความรื่นรมย์กับวิถีวัฒนธรรมอีสานใต้และจะได้ท่องเที่ยวไปในดินแดนของ ปราสาทขอม อีกทั้งจะได้พบกับความหลากหลายของกิจกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ศรีสะเกษ 
     ที่สำคัญที่สุดที่เป็นไฮไลท์ของการจัดงานครั้งนี้ก็คือ นักท่องเที่ยวทุกคนจะได้ชมการแสดงประกอบแสง สี เสียง ชุด ศรีพฤทเธศวร ซึ่งเป็นการแสดงที่ย้อนยุคตำนานของการสร้างเมืองศรีสะเกษ หรือ ที่เรียกว่า เมืองดอกลำดวน นับเป็นการแสดงละครกลางแจ้งที่สมบูรณ์ครบรูปแบบแห่งเดียวของประเทศไทย ในการแสดงครั้งนี้ จะมีบรรดานักแสดงจากทุกภาคส่วนของ จ.ศรีสะเกษ ทั้งภาคราชการและภาคเอกชน จำนวนประมาณ 1000 คน มาร่วมแสดงอย่าง สมจริงสมจังเข้าบรรยากาศของการจัดฉากที่ใหญ่โตมโหฬารและสวยงามมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดในการแสดงนั้น จะใช้ชุดการแสดงที่เข้ากับบรรยากาศของยุคสมัยอย่างแท้จริง และจะมีการแสดงศิลปะ การฟ้อนรำ และดนตรีพื้นบ้านของชน 4 เผ่า ไทศรีสะเกษ ซึ่งประกอบด้วย เขมร ลาว ส่วย และ เยอ โดยในระหว่างที่ชมการแสดงแสง สี เสียง ศรีพฤทเธศวรนั้น จะมีการรับประทานอาหารแบบ พาข้าวแลง ท่ามกลางกลิ่นหอมของดอกลำดวนกว่าสี่หมื่นต้น ซึ่งจะเป็นความประทับใจที่มิรู้ลืมเลยทีเดียว
     นอก จากนี้แล้วในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น ผามออีแดง ปราสาทเขาพระวิหาร น้ำตกสำโรงเกียรติ น้ำตกห้วยจันทร์ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ซึ่งเป็นหลักฐานตำนานการสร้างเมืองศรีสะเกษที่สำคัญ พระธาตุเรืองรอง วัดล้านขวด ปราสาทปรางค์กู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดศรีสะเกษยังเป็นประตูสู่อินโดจีนด้านตะวันออกเฉียง ใต้สู่เส้นทางอารยธรรมขอมโบราณ ปราสาทนครวัด นครธม 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ระยะทางห่างจากช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ 150 กม. เท่านั้น ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งดังกล่าวนี้ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมที่ จ.ศรีสะเกษ ได้ปีละหลายแสนคนทีเดียว

การเดินทางมาศรีสะเกษ
 รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ที่จังหวัดสระบุรี เข้าเส้นทางโชคชัย-เดชอุดม (ทางหลวงหมายเลข 24) ผ่านบุรีรัมย์ สุรินทร์ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 220 เข้าตัวเมืองศรีสะเกษ รวมระยะทางประมาณ 571 กม.
รถ โดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารประจำทาง ทั้งธรรมดาและปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง ติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่โทร 0-2936-3660, 0-2936-0657
                 รถไฟ จากสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) มีรถธรรมดา รถเร็ว และรถด่วน สายกรุงเทพฯ-ศรีสะเกษ ระยะทาง 515 กม.
                ส่วน การเดินทางโดยเครื่องบินนั้น จะต้องขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานดอนเมืองไปลงที่สนามบินนานาชาติ จ.อุบลราชธานี จากนั้นจะต้องเดินทางโดยรถประจำทางจาก จ.อุบลราชธานี ไปยัง จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีระยะทางประมาณ 65 กม. เท่านั้น โดยนักท่องเที่ยวสามารถสอบถามข้อมูลการเดินทางโดยทางเครื่องบินได้ที่บริษัท พีเค ซิตี้ทัวร์ โทรศัพท์ 045 – 620766
นางเอกของเรื่อง ชื่อไตภัทระ หรือนางสาวภัทระ
เป็นลูกของเจ้าเมืองชื่อ "ศรีสุกรรมาเสตงงิ" และมเหสี "พระนางศรีเทวี"
ส่วนภาพนี้คือภาพสามพ่อแม่ลูก เจ้าเมือง , มเหสี และลูกสาว
ส่วน ภาพนี้เป็นภาพการแสดงของคนสี่เผ่าไทย มีการแสดงของชนเผ่าเขมร ส่วย ลาว และเยอ แต่อาจมีไม่ครบ ดูคร่าวๆเอาละกันว่านี่คือวัฒนธรรมชาวสี่เผ่าไทย
บรรยากาศในการแสดง มีการเต้นรำพื้นบ้าน การปล่อยโคมลอย การจุดพลุ
การบวงสรวงก่อนงานเทศกาล
การแสดงวัฒนธรรมของชาวสี่เผ่าไทย
วัฒนธรรมของที่อยู่อาศัยและการใช้ชีวิตประจำวัน
ดนตรีครับ
บายศรี 9 ชั้นเป็นงานบายศรีมงคลขั้นสูงสุดครับ
     น่าเสียดายมากครับที่ปีนี้งานเทศกาลจัดในช่วงเวลาการไว้อาลัยพอดี ถ้าจะเลื่อนไปก็จะไม่ตรงกับช่วงดอกลำดวนบาน จึงไม่มีการแสดงแสงสีเสียงศรีพฤเทศวรที่ยิ่งใหญ่ตระการตา แต่ปีนี้ก็มีการชดเชยที่น่าสนใจมากๆ ด้วยการจัดงานแสดงในทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ ของเดือนมีนาคม ศกนี้  โดยเนื้อหาของงานจะเน้นที่การแสดงธรรม ผนวกกับงานแสดงทางวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ค่อนข้างสมบูรณ์ อยากให้มาเยี่ยมชมครับ ถ้ามาไม่ได้จริงๆก็รอชมทางบล็อกของผมได้นะครับ
    เอนทรี่นี้ต้องขอขอบคุณแหล่งข้อมูลที่หยิบยืมมา (โดยยังไม่ได้ขออนุญาต อิอิ..) หลายที่หลายแหล่ง โดยเฉพาะคุณฝนรินแห่งbloggang.com และสนง.วัฒนธรรมจังหวัด ผมจะนำภาพบรรยากาศงานมานำเสนอให้เร็วที่สุดนะครับ คอยติดตามชมก็แล้วกัน 
 วิวบนผามออีแดงครับ
เอาแผนที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของศรีสะเกษมาฝากด้วยครับ
(1 มี.ค. 20:30 ) มาเพิ่มเติมข้อมูลนิดหน่อยครับ วันที่ 8 มี.ค. อ.เนวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์มาร่วมงานด้วยครับ แล้ววันที่ 23 มี.ค.ก็พระพยอมมาครับ ส่วนวันนี้ (บอกช้าไปหน่อย) แม่ชีทศพรครับ สำหรับผมแนะนำสำหรับคอดนตรีคลาสสิคครับ วันที่ 27 มี.ค.มีวงดนตรีซิมโฟนีจากคณะดุริยางค์ฯม.ศิลปากร มาแสดงครับ 6 ตอน 25 บทเพลง กลางสวนสมเด็จฯ บรรยากาศสุดๆครับ บ่ายสามโมงถึงหกโมงเย็น
     ติดตามอ่านเรื่องราวดีๆในเมืองศรีสะเกษได้จากเอ็นทรี่เก่าๆของผมนะครับ ภาพสวยๆ ภาพเก่าๆมีคุณค่า และงานศิลปะที่ผมรัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น